มารู้จัก โรค มือ เท้า ปาก และการป้องกันโรค


สาเหตุของโรค

เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่มที่อยู่ในลำไส้คน (Coxsackie virus) มักพบเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งทารก และเด็กเล็กมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย และจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต ส่วนผู้ใหญ่ก็พบเป็นโรคนี้ได้ โรคนี้มักพบในสถานเลี้อยงเด็ก และโรงเรีียนอนุบาล ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อยแต่มักไม่มีความรุนแรงและหายได้เองภายใน 7-10 วัน บางรายอาจมีอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน





การติดต่อของโรค

เชื้อโรค อยู่ในน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ น้ำในตุ่มพองหรือแผนของผู้ป่วย เชื้อโรคเข้าทางปากโดยตรงซึ่งอาจติดมากับมือ ของเล่น ไอ จาม หรือใช้ภาชนะในการรับประทานหรือดื่มร่วมกัน โรคนี้จะติดต่อกันได้ง่าย ในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย และจะพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วยได้นานประมาณ 12 สัปดาห์ หลังจากเริ่มป่วย

อาการของโรค

1. มีไข้ 2-4 วัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บภายในปากและคอ ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายไข้หวัด

2. มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่ก้น ต่อมาผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบ ๆ แดง และแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ ถ้าเด็กมีอาการเหล่านี้หรือซึม ไม่รับประทานอาหารและน้ำ น้ำลายไหล อาเจียนบ่อย ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

ภาวะแทรกซ้อน

ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก ๆ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก สมองอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ และปอดบวม ซึ่งภาวะแทรกซ้อนนี้เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้

การป้องกันโรค

1. ควรดูแลรักษาความสะอาดทั่วไป และสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่ายทุกครั้ง

2. รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม

3. ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน ขวดนมร่วมกับผู้อื่น

4. หลีกเลี่ยงการคลุกคลี อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย

5. หลีกเลี่ยงการนำทารกและเด็กเล็กเข้าไปในสถานที่แออัด หรือที่ ๆ เด็กอยู่ร่วมกันจำนวนมาก หรือเล่นของเล่นร่วมกันในที่สาธารณะในช่วงที่มีโรคระบาดมาก

6. ผู้ดูแลเด็กต้องตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว เมื่อเช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม เสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ

7. ทำความสะอาดพื้น เครื่องใช้หรือของเล่น เด็กที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำยาฟอกขาว(คลอร็อกซ์) อัตราส่วน น้ำยา 20 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ซีซี และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง

8. ถ้าพบผู้ป่วยเป็นโรค มือ เท้า ปาก ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยเร็ว เพื่อดำเนินการควบคุมโรคต่อไป

@@@@@@@@@@@@@@@

โรงเรียนจะปลอดภัยจากโรค มือ เท้ าปากได้อย่างไร

1. ผู้บริหารต้องมีความตื่นตัว เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นควรประสานงานกับศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูล และวางมาตรการร่วมกันในการป้องกันโรค

2. จัดประชุมครู ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค รวมทั้งมาตรการป้องกันโรค และควบคุมโรค โดยจัดทำเอกสารเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในการให้ข้อมูลกับผู้ปกครอง และชี้แจงกับนักเรียน

3. ครูต้องเฝ้าระวัง โดยการตรวจสุขภาพหรือสังเกตนักเรียนทุกคน หากพบนักเรียนมีอาการ ในข่ายหน้าสงสัย เช่น มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น ตุ่มพองใสที่มือ แขน ขา หรือซึม มีไข้ ให้รีบแจ้งผู้ปกครองและรับนักเรียนกลับเพื่อพาไปพบแพทย์ตรวจ และแจ้งผลการตรวจให้โรงเรียนทราบโดยด่วน หากผลการตรวจนักเรียนเป็นโรค มือ เท้า ปาก ครูควรจดบันทึกเป็นรายห้องเรียน

4. ผู้บริหารต้องสั่งปิดโรงเรียนเป็นระดับชั้น เพื่อป้องกันการระบาดของโรคมิให้แพร่หลาย การปิดโรงเรียนควรปิดอย่างน้อย 7-10 วัน

5. แจกเอกสารงวิธีการรักษาและให้ความรู้ผู้ปกครองเกี่ยวกับการป้องกันโรค มือ เท้า ปาก ให้เฝ้าระวัง และให้นักเรียนหยุดเรียนทันทีเมื่อเป็นโรคนี้

6. การปิดโรงเรียน ต้องระดมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความสะอาด ฉีด พ่น ฆ่าเชื้อบริเวณที่โรคระบาด เช่น อาคารเรียน ห้องเรียน ห้องสมุด ห้องน้ำ โรงอาหาร สถานที่ประกอบอาหาร สระว่ายน้ำ ฯลฯ

7. รายงานผลการดำเนินงานการป้องกันโรคให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทราบ


ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต 2

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Lady Gaga, Salman Khan