ยา เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้




การกินยาเรื่องเล็กๆ ที่หลายๆ คนมองข้าม วันนี้เราจึงนำสาระดีๆ เกี่ยวกับการรับประทานยาอย่างไรให้ถูกวิธีมาฝากกัน

1. ยาก่อนอาหาร การกินยาก่อนอาหารนั้นควรจะกิน ก่อนมื้ออาหารประมาณ 30 นาที เพื่อให้ยาดูดซึมได้ดีตอนท้องว่าง แต่ถ้าหากลืมกินยาก่อนอาหารก็ให้กินหลังจากมื้ออาหารไปแล้วประมาณ 2 ชม.

2. ยาหลังอาหาร โดยทั่วไปแล้วควรจะกินหลังมื้ออาหารประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้ากระแสโลหิตพร้อมกับอาหารในลำไส้เล็ก

3. ยาก่อนนอน ควรเว้นระยะเวลาหลังมื้ออาหารเย็น อย่างน้อย 4 ชม.



4. ปริมาณยา ควรรับประทานยาให้ตรงตามปริมาณที่แพทย์สั่ง ด้วยอุปกรณ์ตวงที่มาตรฐาน แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ช้อนกาแฟหรือช้อนกินข้าว ก็ควรจะรู้การเปรียบเทียบจากหน่วยมาตรฐาน 1 ช้อนชา มีขนาดเท่ากับ 5 ซีซี หรือ 5 มลซึ่ง 1 ช้อนกาแฟ (มาตรฐาน) จะมีขนาดเท่ากับ 2-3 ซีซีเท่านั้น ดังนั้น การรับประทานยา 1 ช้อนชา จึงประมาณได้เท่ากับ 2 ช้อนกาแฟ ส่วน 1 ช้อนโต๊ะ (มาตรฐาน) จะเท่ากับ 15 มล. ซึ่งจะเทียบได้กับ 6 ช้อนกาแฟ

5. ยาต่างประเภทกินต่างกัน ยาเม็ดชนิดแคปซูลที่ห้ามเคี้ยว ต้องกลืนไปพร้อมกับน้ำ ซึ่งเป็นยาที่กินง่ายแคปซูลเคลือบกลิ่นและรสของยาเอาไว้ สำหรับยาที่ต้องเคี้ยวก่อนกลืนจำพวกยาลดกรด ยาขับลมที่ต้องเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนพร้อมกับน้ำก็เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น

6. จำนวนการรับประทาน ขึ้นอยู่กับอาการของโรคและประเภทของยา ซึ่งผู้ป่วยจะต้องกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง หากกินยาไม่ครบตามที่กำหนด อาจทำให้เชื้อโรคดื้อยา และทำให้อาการที่เป็นอยู่นั้นหายช้าเพราะเชื้อโรคถูกไม่หมด





ที่มา : สสส.

ต้องฝึกลูกกินผักตั้งแต่ในท้อง




มีข่าวดีสำหรับผู้ที่กำลังจะเป็นคุณแม่ที่อยากให้ลูกคุ้นเคยกับการรับประทานผักและผลไม้ และวิธีการก็ไม่ยากด้วย เพียงแค่ว่าที่คุณแม่ต้องรับประทานอาหารเหล่านี้ขณะตั้งครรภ์ เพราะมีผลการวิจัยระบุว่าทารกสามารถรับรู้รสชาติของผักและผลไม้ที่แม่ทานได้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ หรือแม้แต่ผ่านนมแม่

เป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็กเล็กมักจะชอบรสชาติอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและเกลือ แต่จะเมินอาหารรสขม เช่น ผักสีเขียว ทั้งที่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ วิธีการใหม่ที่จะปลูกฝังให้เด็กทานอาหารที่มีประโยชน์แต่ไม่ถูกลิ้น ก็ทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มตั้งแต่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ จนถึงการให้นมบุตรยังช่วงเด็กหย่านม ด้วยการที่คุณแม่เองต้องขยันทานผักและผลไม้เป็นประจำ เพราะลูกจะคุ้นเคยกับรสชาตินั้นไปด้วย

ผลวิจัยชี้ว่า ยิ่งคุณแม่ทานอาหารที่หลากหลายขณะตั้งครรภ์มากเท่าไหร่ ลูกที่เกิดมาก็จะเป็นเด็กที่จะจู้จี้เลือกทานอาหารน้อยลงนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นให้ผลสรุปด้วยว่า คุณแม่ที่ดื่มน้ำแครอทเป็นประจำ จะทำให้ลูกทานซีเรียลรสแครอทมากขึ้นเป็น 2 เท่าหลังการหย่านมด้วย


ดร.จูเลีย เมนเนลลา นักวิจัยจากศูนย์โมเนลล์ ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผลการวิจัยของเธอแสดงชัดเจนว่า หากแม่ทานผักและผลไม้จำนวนมากระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร เด็กก็จะเปิดรับการทานผักผลไม้มากขึ้นหลังหย่านม" เด็กๆ ควรได้คุ้นเคยกับผักและผลไม้ หากจะให้พวกแกได้เรียนรู้ที่จะชอบรสชาติของมัน ข่าวดีคือ ผลการวิจัยของเราพบว่าเด็กๆ สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารที่มีประโยชน์ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ คุณแม่จึงควรทานอาหารที่มีประโยชน์ แล้วเมื่อเด็กโตพอที่จะหย่านมแล้วเริ่มทานอาหารอย่างอื่น พวกแกก็จะคุ้นเคยกับรสชาติเหล่านั้น"

ดร.เมนเนลลาได้ทำการศึกษากับเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี จำนวน 46 คน เพื่อสังเกตนิสัยความชอบแครอทของเด็ก การวิจัยพบว่าเด็กที่คุณแม่ดื่มน้ำแครอทสัปดาห์ละหลายครั้ง จะทานซีเรียลรสแครอทมากกว่า 80 กรัม ขณะที่เด็กกลุ่มอื่นทานแค่ 44 กรัม เหตุผลนั่นเป็นเพราะเด็กได้รับข้อมูลการรับรู้รสผ่านทางครรภ์และผ่านน้ำนมของแม่


งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า เด็กที่ทานนมขวดก็การรับรู้รสผ่านทางครรภ์และผ่านน้ำนมของแม่ โดยเด็กที่ทานนมขวดก็สามารถปรับตัวยอมรับผักและผลไม้ได้อย่างรวดเร็ว หากพวกแกถูกสอนให้ทานตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนจากนมมาทานอาหารแข็ง โดยจากการทดลองให้เด็กทานถั่วลันเตาติดต่อกัน 8 วัน จะพบว่าเด็กจะทานถั่วเฉลี่ยมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เริ่มจากเฉลี่ย 50 กรัม จนเพิ่มเป็น 80 กรัม

"ไม่ว่าเด็กจะดื่มนมจากขวดหรือจากอกแม่ พวกแกก็สามารถเรียนรู้ได้ทันทีตั้งแต่เริ่มหย่านม หากเด็กได้ทานผักผลไม้บ่อยๆ พวกแกก็จะเริ่มยอมรับอาหารเหล่านี้ได้เร็วขึ้น พอเด็กอายุ 2 ขวบ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่พวกแกไม่ควรทานอาหารหลากหลายแบบเดียวกับผู้ใหญ่"

ดร.เมนเนลลาทิ้งท้ายด้วยว่า การซ่อนบร็อกโคลีไว้ในเค้กบราวนี่นั้นไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะชอบรสชาติของผักโดยแยกต่างหากจากรสชาติอื่นๆ

รู้จัก โรคกล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมในเด็ก (ดูเชน)




หนึ่งในโรคที่เป็นโรคหายากในเด็กมาฝาก นั่นคือ “โรคกล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมในเด็ก (ดูเชน)” ซึ่งเป็นโรคที่สามารถพบได้ในเด็กวัยที่โตแล้ว สามารถเดินได้เองแล้ว แต่ด้วยความผิดปกติจากหลายปัจจัยทำให้เด็กประสบปัญหาในการเดิน การใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ฉะนั้น มาทำความรู้จักโรคนี้กันดีกว่า  

โรคกล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมในเด็ก หรือ ดูเชน เกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลักสำคัญ ได้แก่  

1) ปัจจัยจากพันธุกรรม ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของยีนที่ชื่อ ดิสโทรฟิน

2) เกิดขึ้นจากการมีประวัติของคนในครอบครัว ซึ่งบางครอบครัวอาจเคยมีคนเป็นโรคนี้มาก่อน และอาจมีผู้หญิงอีกหลายคนในครอบครัวมียีนแฝงด้วย

3) เกิดจากปัจจัยเกี่ยวกับยีนแฝง ในบางครอบครัวอาจพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้รายแรก ซึ่งก็มีโอกาสที่จะพบมารดาที่มียีนแฝงได้มากถึงร้อยละ 70  

โรคกล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมในเด็ก มีลักษณะการแสดงอาการ ดังนี้  

1) มักพบการแสดงอาการของโรคนี้ได้ในเด็กผู้ชาย

2) เริ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ต้นขา เมื่ออายุได้ 3-4 ปี ซึ่งเด็กจะไม่ค่อยวิ่งหรือวิ่งขาปัด จากที่เมื่อก่อนเคยวิ่งเล่นได้

3) เมื่ออายุได้ 4-5 ปี เด็กจะเดินล้มบ่อย

4) เวลานั่งกับพื้น เด็กจะลุกขึ้นเองได้ลำบาก ต้องใช้มือดันตัวขึ้น บางครั้งต้องใช้การเกาะเก้าอี้หรือเกาะยึดโต๊ะ จึงจะลุกขึ้นได้

5) เด็กจะมีอาการน่องโต เดินปลายเท้าเขย่ง รวมถึงมีอาการหลังแอ่น

6) เมื่อเด็กอายุได้ 8-9 ปี กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงมากขึ้น จนลุกเองไม่ได้ และเดินไม่ไหว ต้องนั่งเก้าอี้รถเข็น

7) พบว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ

8) โรคนี้รุนแรงมาก และแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุประมาณ 10-20 ปี เด็กมักจะนั่งไม่ไหว และมักเสียชีวิตเมื่ออายุประมาณ 18-25 ปี

ผู้หญิงในครอบครัวควรทำอย่างไร  

ผู้หญิงไม่แสดงอาการของโรคนี้ แต่อาจมียีนแฝง ซึ่งส่งยีนต่อให้ลูกได้ ทำให้ในแต่ละท้อง ลูกชายมีโอกาสเป็นโรค 50% โอกาสไม่เป็นโรค 50% ส่วนลูกสาวจะไม่เป็นโรค แต่อาจมีหรือไม่มียีนแฝงได้ และยังแนะนำว่าควรพบแพทย์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อตรวจว่ามียีนแฝง (พาหะ) หรือไม่รวมถึงควรวางแผนการมีบุตรและตรวจทารกในครรภ์เสียก่อน

การพบเจอเด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมในเด็ก สิ่งสำคัญก็คือ การดูแลและช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองให้ได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายเป็นปกติได้ก็ตาม ซึ่งการรักษาโดยการให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ จะช่วยชะลออาการอ่อนแรงลงได้บ้างเท่านั้น ทั้งนี้ การให้ยากับผู้ป่วยก็ขึ้นอยู่กับแนวทางการรักษาและดุลพินิจของแพทย์ นอกจากนี้ การรักษาด้วยยีนบำบัดและยาตัวอื่น ๆ ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ยังไม่มีผลการวิจัยใด ๆ ออกมา

ทั้งนี้ สามารถทำการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายได้ โดยการออกกำลังกายเบา ๆ ว่ายน้ำ นวดสัมผัส ซึ่งจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อไม่หดเกร็ง เป็นการป้องกันการติดยึดของข้อ นอกจากนี้แล้ว ยังควรหมั่นตรวจสมรรถภาพทางปอดและการทำงานของหัวใจปีละครั้ง เพื่อติดตามและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดตามมาได้

สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ สังคมและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น คุณครูและเพื่อน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการส่งและเป็นกำลังใจ ผู้ปกครองควรพยายามให้ผู้ป่วยได้ไปโรงเรียน แต่ระมัดระวังการขึ้นบันได และการพลัดตกหกล้มเป็นสำคัญ

ด้านการใช้ชีวิตประจำวันและสิ่งแวดล้อม ควรจัดบ้าน จัดสิ่งแวดล้อมให้สะดวกแก่ผู้ป่วย เช่น ทางเข้าห้องน้ำ ให้ทำเป็นทางลาดเข็นรถนั่งได้ พยายามให้เดินในที่ที่เป็นเนินเล็กน้อยเพื่อป้องกันข้อติด ตะโกนดัง ๆ เพื่อขยายปอด จัดทำที่รองข้อศอกแบบทำเอง เพื่อช่วยในการยกแขนกินอาหารได้เอง ควรมีหมอนหนุนเก้าอี้ เพื่อป้องกันตัวคดงอ กรณีที่เริ่มมีการยึดติดของข้อเข่าและตะโพก ให้ใช้ถุงทรายทับที่ข้อเวลานอนพักหรือหลับ

ประโยชน์ดีๆ จากโยเกิร์ต

ประโยชน์และคุณค่าของโยเกิร์ตที่สาวๆ หลายคนรู้ดีคือ มีคุณค่าทางโภชนาการสามารถทานโยเกิร์ตเพื่อควบคุมน้ำหนักตัวได้ และยังใช้ดูแลผิวด้วยการนำมาพอกหน้า เพื่อบำรุงผิวอีกด้วย แต่คุณสาวๆ ทราบหรือไม่ค่ะ ว่าโยเกิร์ตยังมีคุณค่ามากมายแค่ไหน





ประโยชน์หลักๆ ของเชื้อจุลินทรีย์ในโยเกิร์ต  มีดัง

1. เสริมภูมิลำไส้ เชื้อจุลินทรีย์บางชนิดในโบเกิร์ต ทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และป้องกันเชื้อปอดอักเสบ
2.  ช่วยคลายเครียด เชื่อที่อยู่ในโยเกิร์ต ช่วยกระตุ้นการสร้างวิตามินเค วิตามินบี และกรดอะมีโนทริปโตแฟน เป็นวิตามินที่ช่วยบำรุงระบบประสาท และสามารถปรับอารมณ์ให้สมดุลได้

3.  ป้องกันกลิ่นปาก  เชื้อจุลินทรีย์ในโยเกิร์ตช่วยขจัดจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
4.  ป้องกันฟันผุ  ผลงานการวิจัยจากคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่าเชื้อจุลินทรีย์ในโยเกิร์ตช่วยขจัดเชื้อที่ทำให้เกิดฟันผุได้
5.  ป้องกันมะเร็ง จากกลุ่มอาหารที่ใส่ดินประสิว เช่น แหนม ไส้กรอก แฮม เบค่อน และกุนเชียง เป็นต้น
6.  ช่วยลดไขมัน และป้องกันกระดูกพรุน  มีการศึกษาพบว่าการบริโภคโยเกิร์ตเพียงวันละ 3 ออนซ์ (100 กรัม) ช่วยลดไขมันร้าย  และเพิ่มไขมันดี

การทานโยเกิร์ตให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรทานโยเกิร์ตธรรมชาติที่ปราศจากน้ำตาล หากรู้สึกเลี่ยนหรืออยากจะเพิ่มความหวาน ให้เพิ่มผลไม้สด ที่เราชอบทานลงไปก็ได้ค่ะ
ขอบคุณบทความดีๆ จาก TSGClub.com

อาหารที่ควร/ไม่ควรทานสำหรับคนท้อง




             ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่หลายท่านเป็นกังวลกับอาหารการกิน จะกินอะไรแต่ละอย่างคิดแล้วคิดอีกว่าจะมีประโยชน์หรือโทษต่อลูกน้อยในครรภ์ด้วยเหตุนี้จึงมีคำถามตามมาว่าแล้วอาหารอะไรล่ะที่ควรกินหรือไม่ควรกิน

นพ.กฤษดา  ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ  กล่าวว่า
อาหารที่ควรกินในช่วงตั้งครรภ์ มีดังนี้

ปลา ถ้าเป็นไปได้อยากให้เน้นปลาทะเล ปลาตัวเล็กดีกว่าปลาตัวใหญ่ เช่น ปลาทู เนื่องจากปลาตัวใหญ่อาจมีสารตะกั่ว สารปรอท สารพีซีบี โลหะหนัก ปนเปื้อนและไปสะสมที่สมองลูกได้

ไข่ไก่ ไข่เป็ด มีโปรตีนสูงแต่ควรหลีกเลี่ยงไข่ดิบ ไข่ลวก เพราะอาจทำให้ลำไส้ติดเชื้อซาลโมเนลล่า และที่คุณแม่มักจะมองข้ามคือ น้ำสลัดซึ่งใช้ไข่ดิบทำควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน

มะเขือเทศ  มี "ไลโคปีน", "แคล เซียม" และ "แมกนีเซียม" เป็นประโยชน์และดีกับหญิงตั้งครรภ์

คะน้า ในคะน้าหรือพืชตระกูลคะน้า เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี ผักขม  มี "โฟลิก"ช่วยสร้างสมองทารกในครรภ์

ข้าวโพดม่วง มันม่วง องุ่น มีซูเปอร์วิตามิน "โอพีซี" ต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์ภูมิคุ้มกันร่างกายุอ่อนแอ การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจะเหมือนมีอีกมือช่วยต้านโรค

ข้าวกล้องงอก จมูกข้าวสาลี  มีสังกะสีช่วยเม็ดเลือดขาว เป็นเหมือนปราการป้องกันเชื้อ



เห็ด ทุกชนิด แต่เน้นเห็ดหอม โดยเฉพาะเห็ดสดนำมาปรุงอาหาร เห็ดมีสารเบต้ากลูแคน เป็นเกราะเสริมภูมิคุ้มกันทั้งแม่และลูก

น้ำมะพร้าว ช่วยเรื่องผิวพรรณ และยังมีส่วนช่วยป้องกันเชื้อโรค เพราะมีกรดลอริก เหมือนในน้ำนมแม่ ช่วยป้องกันเชื้อ ต้านเชื้อได้

อาหารที่กล่าวมาทั้งหมด อยากให้กินอยู่เรื่อย ๆ สลับกันไป

ส่วนอาหารที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงมีดังนี้

ปลาดิบ ปลาร้าดิบ  ไข่ลวก ไข่ดิบ น้ำสัตว์ดิบ  หอยนางรมสด  จะทำให้ได้รับเชื้อโรค พยาธิ

อาหารรสเผ็ดจัด  อาหารมัน ช่วงตั้งครรภ์อาจไปกระตุ้นทำให้กรดไหลย้อนได้ง่าย ดังนั้น  ส้มตำเผ็ด ๆ อาหารรสแซบ จัดจ้าน ควรหลีกเลี่ยง


อาหารสีจัดจ้าน  สีสังเคราะห์อาจมีการปนเปื้อนสารตะกั่ว โลหะหนัก ส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์

เนยเหลว อาจมีการปนเปื้อนเชื้อแบค ทีเรีย ทำให้คุณแม่มีปัญหาระบบลำไส้ ทางเดินอาหารติดเชื้อ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย

น้ำผึ้ง ถ้าเป็นน้ำผึ้งสะอาดบริสุทธิ์กินได้ แต่ถ้าไม่บริสุทธิ์ มีการปนเปื้อนต้องระวังเชื้อโรคอาจทำให้ท้องเสีย อีกทั้งน้ำผึ้งมีสรรพคุณระบายอ่อน ๆ ดังนั้นต้องระวัง อย่ากินมากเกินไปเพราะจะทำให้ท้องเสียหรือถ่ายบ่อย

แอลกอฮอล์  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถผ่านไปที่ตับแม่ ผ่านรกไปสู่ลูกโดย ตรง มีผลต่อสมองลูก ทำให้เด็กเกิดมาตัวเล็กหรือสติปัญญาด้อยกว่าปกติ

กาเฟอีน  มีอยู่ในชา กาแฟ โกโก้เข้มข้น น้ำอัดลม อาจบีบหัวใจคุณแม่ ทำให้ปัสสาวะเยอะ ปกติคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ปัสสาวะเยอะอยู่แล้ว นอกจากนี้กาเฟอีนอาจส่งผลต่อเส้นเลือดบริเวณมดลูกและรก โดยส่งผลต่อการบีบตัวของหลอดเลือดหรือการไหลเวียนโลหิต


ยารักษาสิว  กรดวิตามินเอ กรดนี้จะอยู่ในร่างกายอย่างน้อย 6 เดือน ถ้ากินเข้าไปแล้วตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวแล้วกินเข้าไปลูกอาจได้รับกรดวิตามินเอ

ท้ายนี้ยังมีข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ท้องอืด ควรทานเต้าฮวย น้ำขิง  มันต้มน้ำขิง หรือโยเกิร์ต จะช่วยลดอาการท้องอืดได้

ขอบคุณ สสส. / หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ทำความรู้จักกับ "โรคคอตีบ"

โรคคอตีบ(Diphtheria)  เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ และจากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลาย  พบมากในเด็กอายุ 2-5 ปี  ติดต่อโดยรับเชื้อจากผู้ป่วยโดยตรง  หรือสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย
diphtheria
สาเหตุ
               โรคคอตีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae (C. diphtheriae) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ส่วนมากจะติดต่อโดยการหายใจ ไอ หรือจามรดกัน  มักจะเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดพิษ (toxogenic) และไม่ทำให้เกิดพิษ(nontoxogenic) พิษที่ถูกขับออกมาจะชอบไปที่กล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ถึงตาย
               ระยะฟักตัว ประมาณ 1-7 วัน (เฉลี่ย 3 วัน)
อาการ
               ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอเล็กน้อย แต่จะรู้สึกกลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน และมีท่าทางอ่อนเพลียมาก  มีอาการไอเสียงก้อง  ไอเสียงแหบ หายใจเสียงดังครู้ป (stridor) หายใจลำบาก เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane) ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ
              ตำแหน่งที่จะพบมีการอักเสบและมีแผ่นเยื่อได้ คือ
                  -  ในจมูก ทำให้มีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น
                  -  ในลำคอและที่ทอนซิล ซึ่งแผ่นเยื่ออาจจะเลยลงไปในหลอดคอ จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตันหายใจลำบาก ถึงตายได้
                  -  ตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ ที่ผิวหนัง เยื่อบุตา ในช่องหู

             ที่สำคัญ คือ นอกจากจะทำให้การอุดตันของทางเดินหายใจแล้ว เชื้อโรคจากคอและหลอดลมจะปล่อยพิษออกมาในกระแสเลือด ทำให้หัวใจอักเสบได้    ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ อาเจียน หน้าซีด ชีพจรเบาเร็ว เสียงหัวใจเบา ระยะหลังเส้นประสาทหัวใจจะถูกทำลาย ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติไปหัวใจห้องบนจะเต้นตามปกติคือ ประมาณ 70 ครั้งต่อนาที แต่ห้องล่างจะเต้นโดยอัตโนมัติ ประมาณ 20-40 ครั้งต่อนาที ทำให้สูบฉีดเลือดไม่พอเพียงที่จะไปเลี้ยงร่างกาย ประกอบกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วย จึงทำให้หัวใจวาย
การตรวจวินิจฉัย
              1. ไข้ 38.5 -39๐ ซ. หายใจหอบ คอบุ๋ม ชีพจรเร็ว
              2. ไอเสียงก้อง เจ็บคอ ตรวจพบแผ่นเยื่อในลำคอ บริเวณทอนซิลและลิ้นไก่ (uvula) 
              3. การตรวจคอ อาจพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทา (White grayish membrane) ซึ่งแลดูคล้ายเศษผ้าสกปรกติดอยู่บนทอนซิล คอหอย และลิ้นไก่ ซึ่งเขี่ยออกยาก ถ้าฝืนเขี่ยจะทำให้มีเลือดออกได้
              4. ต่อมน้ำเหลืองที่คอมักจะโต
              5. บางคนอาจมีอาการคอบวมมาก คล้าย ๆ คอวัว เรียกว่า อาการคอวัว (Bull neck)
ภาวะแทรกซ้อน
            1) ทางเดินหายใจตีบตัน
            2) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
            3) ปลายประสาทอักเสบ ทำให้มีอัมพาตของกล้ามเนื้อ
การรักษา
              เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะแพทย์จะต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว ผลการรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นมาก่อนได้รับการรักษา
            1) การให้ diphtheria antitoxin (DAT)* เมื่อแพทย์ตรวจและสงสัยว่าเป็นคอตีบ จะต้องรีบให้ DAT โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ไปทำลาย exotoxin ก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทั้งนี้ โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขนาดของ DAT ที่ให้อยู่ระหว่าง 10,000-20,000 หน่วย โดยพิจารณาตามความรุนแรงของโรค
หมายเหตุ *การให้ antitoxin ต้องทำ skin test
            2) ให้ยาปฎิชีวนะ เพนนิซิลิน ฉีดเข้ากล้ามเป็นเวลา 14 วัน ถ้าแพ้เพนนิซิลิน ให้ erythromycin แทน ยาปฏิชีวนะจะไปทำลายเชื้อ C. diphtheriae
            3) เด็กที่มีโรคแทรกซ้อนจากการอุดกลั้นของทางเดินหายใจ จะต้องได้รับการเจาะคอเพื่อช่วยให้หายใจได้ ส่วนโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและทางเส้นประสาท ให้การรักษาประคับประคองตามอาการโรคแทรกซ้อนทางหัวใจนับเป็นสาเหตุสำคัญของการตายในโรคคอตีบ
            4) เด็กที่เป็นโรคคอตีบจะต้องพักเต็มที่ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นปลายสัปดาห์ที่ 2
ข้อแนะนำ
1. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก และน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ควรทำการกำจัดเสีย
2. เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือประสาทอักเสบแทรกซ้อน เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้วควรระวังอย่าให้ร่างกายตรากตรำ จนกว่าจะปลอดภัย
3. พาเด็กที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อรับยาปฏิชีวนะ เช่น อีริโทรไมซิน กินป้องกันนาน 7 วัน 
4. เชื้อคอตีบอาจทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่ผิวหนังได้ ถ้าพบแผลเรื้อรังในคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยคอตีบ ก็อย่าลืมนึกถึง
การป้องกัน
            1) ผู้ที่มีอาการของโรคจะมีเชื้ออยู่ในจมูก ลำคอ เป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น จึงต้องแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังเริ่มมีอาการ หรือตรวจเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแล้ว 2 ครั้ง ผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบแล้ว อาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นเต็มที่จึงอาจเป็นโรคคอตีบซ้ำอีกได้ ดังนั้นจึงต้องให้วัคซีนป้องกันโรค (DTP หรือ dT) แก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน
            2) ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เนื่องจากโรคคอตีบติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้นผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจะติดเชื้อได้ง่าย จึงควรได้รับการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยทำการเพาะเชื้อจากลำคอ และติดตามดูอาการ 7 วัน ในผู้ที่สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน หรือได้ไม่ครบ ควรให้ยาปฏิชีวนะ benzathine penicillin 1.2 ล้านหน่วย ฉีดเข้ากล้าม หรือให้กินยา erythromycin 50 มก./กก/วัน เป็นเวลา 7 วัน พร้อมทั้งเริ่มให้วัคซีน เมื่อติดตามดูพบว่ามีอาการ และ/หรือตรวจพบเชื้อ ให้ยาปฏิชีวนะดังกล่าว พร้อมกับให้ diphtheria antitoxin เช่นเดียวกับผู้ป่วย
            3) ในเด็กทั่วไป การป้องกันนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี

แนะใช้หลัก 3ร 5ป ลดป่วยตายไข้เลือดออกระบาด




สธ.ห่วงไข้เลือดออกปี 2556 ระบาดรุนแรงกว่าปี 2555 หลังพบเพียง 14 วันต้นปี มีผู้ป่วยแล้วกว่าพันราย คาดตลอดปีจะมีผู้ป่วยพุ่งสูงถึง 1.2 แสนราย ตายไม่ต่ำกว่า 100 ราย จัดตั้งวอร์รูมเร่งให้ความรู้และรณรงค์ แนะหลัก 3ร 5ป ลดป่วยตาย


นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักงานโรคติดต่อโดยแมลง กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตลอดปี 2555 ถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากพบผู้ป่วยจำนวน 76,351 ราย เสียชีวิต 82 ราย แต่ในปี 2556 มีความน่าเป็นห่วงกว่ามาก เพราะตัวเลขผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1-14 ม.ค. 2556 พบว่า มีผู้ป่วยแล้ว 1,079 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ที่สำคัญขณะนี้ยังเป็นช่วงฤดูหนาว ไม่ใช่ฤดูฝนหรือฤดูการแพร่ระบาด แต่กลับพบรายงานตัวเลขผู้ป่วยแล้วกว่าพันราย โดยพบผู้ป่วยสูงสุดที่ภาคใต้ อาทิ สงขลา กระบี่ พัทลุง และพังงา เป็นต้น รองลงมาคือภาคกลาง ทั้งนี้ สธ.คาดการณ์ว่าปี 2556 จะพบผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงถึงประมาณ 1-1.2 แสนราย และเสียชีวิตประมาณ 100 ราย

"สาเหตุที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกในช่วงฤดูหนาว เพราะสภาพอากาศแปรปรวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝน ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สภาพอากาศจึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาการระบาดของไข้เลือดออกเร็วกว่าปกติ สธ.จึงตั้งวอว์รูมเพื่อเตรียมมาตรการความพร้อมรับมือ โดยเบื้องต้นจะให้ความรู้และขอความร่วมมือกับ อสม.ให้ช่วยตรวจสอบและดูแลประชาชนในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนมีความเข้าใจ อาทิ แข่งขันการแก้ปัญหาไข้เลือดออกในกลุ่ม อสม. โดยจังหวัดใดมีผู้ป่วยน้อยจะได้รับรางวัลพิเศษกว่า หรือประกวดภายในโรงเรียน เช่น วาดภาพระบายสี เขียนบทความ ตอบคำถาม เป็นต้น เพื่อกระตุ้นเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น" นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า การควบคุมโรคไข้โรคออกประชาชนควรหันมาใช้มาตรการ 3ร 5ป โดย 3ร คือ ดูแลสภาพแวดล้อมของโรงเรียนชุมชน โรงเรียนศูนย์เด็กเล็ก และโรงพยาบาล ส่วน 5ป คือ ปิดฝาโอ่ง เปลี่ยนน้ำทุกอาทิตย์ ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติจนเป็นนิสัย

อย่างไรก็ตาม ไข้เลือดออกจะมีอาการที่ค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ คือ 1.ไข้สูงลอย 2 -7 วัน 2.มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง 3.ตับโต กดเจ็บ และ 4.มีภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก ทั้งนี้ ผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการไข้สูงแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40 - 41 องศาเซลเซียส บางรายอาจถึงชักได้ ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ผิวหนังแดงบริเวณคอ หน้าอก และลำตัว เด็กบางคนอาจบ่นปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัวพร้อม ๆ กับมีไข้สูง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล หรืออาการไอ เด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วยในรายที่อาการรุนแรงผู้ป่วยจะมีการช็อกได้





ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ / สสส.

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Lady Gaga, Salman Khan