แนะใช้หลัก 3ร 5ป ลดป่วยตายไข้เลือดออกระบาด




สธ.ห่วงไข้เลือดออกปี 2556 ระบาดรุนแรงกว่าปี 2555 หลังพบเพียง 14 วันต้นปี มีผู้ป่วยแล้วกว่าพันราย คาดตลอดปีจะมีผู้ป่วยพุ่งสูงถึง 1.2 แสนราย ตายไม่ต่ำกว่า 100 ราย จัดตั้งวอร์รูมเร่งให้ความรู้และรณรงค์ แนะหลัก 3ร 5ป ลดป่วยตาย


นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักงานโรคติดต่อโดยแมลง กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตลอดปี 2555 ถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากพบผู้ป่วยจำนวน 76,351 ราย เสียชีวิต 82 ราย แต่ในปี 2556 มีความน่าเป็นห่วงกว่ามาก เพราะตัวเลขผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1-14 ม.ค. 2556 พบว่า มีผู้ป่วยแล้ว 1,079 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ที่สำคัญขณะนี้ยังเป็นช่วงฤดูหนาว ไม่ใช่ฤดูฝนหรือฤดูการแพร่ระบาด แต่กลับพบรายงานตัวเลขผู้ป่วยแล้วกว่าพันราย โดยพบผู้ป่วยสูงสุดที่ภาคใต้ อาทิ สงขลา กระบี่ พัทลุง และพังงา เป็นต้น รองลงมาคือภาคกลาง ทั้งนี้ สธ.คาดการณ์ว่าปี 2556 จะพบผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงถึงประมาณ 1-1.2 แสนราย และเสียชีวิตประมาณ 100 ราย

"สาเหตุที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกในช่วงฤดูหนาว เพราะสภาพอากาศแปรปรวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝน ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สภาพอากาศจึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาการระบาดของไข้เลือดออกเร็วกว่าปกติ สธ.จึงตั้งวอว์รูมเพื่อเตรียมมาตรการความพร้อมรับมือ โดยเบื้องต้นจะให้ความรู้และขอความร่วมมือกับ อสม.ให้ช่วยตรวจสอบและดูแลประชาชนในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนมีความเข้าใจ อาทิ แข่งขันการแก้ปัญหาไข้เลือดออกในกลุ่ม อสม. โดยจังหวัดใดมีผู้ป่วยน้อยจะได้รับรางวัลพิเศษกว่า หรือประกวดภายในโรงเรียน เช่น วาดภาพระบายสี เขียนบทความ ตอบคำถาม เป็นต้น เพื่อกระตุ้นเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น" นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า การควบคุมโรคไข้โรคออกประชาชนควรหันมาใช้มาตรการ 3ร 5ป โดย 3ร คือ ดูแลสภาพแวดล้อมของโรงเรียนชุมชน โรงเรียนศูนย์เด็กเล็ก และโรงพยาบาล ส่วน 5ป คือ ปิดฝาโอ่ง เปลี่ยนน้ำทุกอาทิตย์ ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติจนเป็นนิสัย

อย่างไรก็ตาม ไข้เลือดออกจะมีอาการที่ค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ คือ 1.ไข้สูงลอย 2 -7 วัน 2.มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง 3.ตับโต กดเจ็บ และ 4.มีภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก ทั้งนี้ ผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการไข้สูงแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40 - 41 องศาเซลเซียส บางรายอาจถึงชักได้ ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ผิวหนังแดงบริเวณคอ หน้าอก และลำตัว เด็กบางคนอาจบ่นปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัวพร้อม ๆ กับมีไข้สูง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล หรืออาการไอ เด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วยในรายที่อาการรุนแรงผู้ป่วยจะมีการช็อกได้





ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ / สสส.

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Lady Gaga, Salman Khan