โรคคอตีบ(Diphtheria) เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ และจากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลาย พบมากในเด็กอายุ 2-5 ปี ติดต่อโดยรับเชื้อจากผู้ป่วยโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย
สาเหตุ
โรคคอตีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae (C. diphtheriae) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ส่วนมากจะติดต่อโดยการหายใจ ไอ หรือจามรดกัน มักจะเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดพิษ (toxogenic) และไม่ทำให้เกิดพิษ(nontoxogenic) พิษที่ถูกขับออกมาจะชอบไปที่กล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ถึงตาย
ระยะฟักตัว ประมาณ 1-7 วัน (เฉลี่ย 3 วัน)
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอเล็กน้อย แต่จะรู้สึกกลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน และมีท่าทางอ่อนเพลียมาก มีอาการไอเสียงก้อง ไอเสียงแหบ หายใจเสียงดังครู้ป (stridor) หายใจลำบาก เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane) ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ
ตำแหน่งที่จะพบมีการอักเสบและมีแผ่นเยื่อได้ คือ
- ในจมูก ทำให้มีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น
- ในลำคอและที่ทอนซิล ซึ่งแผ่นเยื่ออาจจะเลยลงไปในหลอดคอ จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตันหายใจลำบาก ถึงตายได้
- ตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ ที่ผิวหนัง เยื่อบุตา ในช่องหู
ที่สำคัญ คือ นอกจากจะทำให้การอุดตันของทางเดินหายใจแล้ว เชื้อโรคจากคอและหลอดลมจะปล่อยพิษออกมาในกระแสเลือด ทำให้หัวใจอักเสบได้ ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ อาเจียน หน้าซีด ชีพจรเบาเร็ว เสียงหัวใจเบา ระยะหลังเส้นประสาทหัวใจจะถูกทำลาย ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติไปหัวใจห้องบนจะเต้นตามปกติคือ ประมาณ 70 ครั้งต่อนาที แต่ห้องล่างจะเต้นโดยอัตโนมัติ ประมาณ 20-40 ครั้งต่อนาที ทำให้สูบฉีดเลือดไม่พอเพียงที่จะไปเลี้ยงร่างกาย ประกอบกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วย จึงทำให้หัวใจวาย
การตรวจวินิจฉัย
1. ไข้ 38.5 -39๐ ซ. หายใจหอบ คอบุ๋ม ชีพจรเร็ว
2. ไอเสียงก้อง เจ็บคอ ตรวจพบแผ่นเยื่อในลำคอ บริเวณทอนซิลและลิ้นไก่ (uvula)
3. การตรวจคอ อาจพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทา (White grayish membrane) ซึ่งแลดูคล้ายเศษผ้าสกปรกติดอยู่บนทอนซิล คอหอย และลิ้นไก่ ซึ่งเขี่ยออกยาก ถ้าฝืนเขี่ยจะทำให้มีเลือดออกได้
4. ต่อมน้ำเหลืองที่คอมักจะโต
5. บางคนอาจมีอาการคอบวมมาก คล้าย ๆ คอวัว เรียกว่า อาการคอวัว (Bull neck)
ภาวะแทรกซ้อน
1) ทางเดินหายใจตีบตัน
2) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
3) ปลายประสาทอักเสบ ทำให้มีอัมพาตของกล้ามเนื้อ
การรักษา
เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะแพทย์จะต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว ผลการรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นมาก่อนได้รับการรักษา
1) การให้ diphtheria antitoxin (DAT)* เมื่อแพทย์ตรวจและสงสัยว่าเป็นคอตีบ จะต้องรีบให้ DAT โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ไปทำลาย exotoxin ก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทั้งนี้ โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขนาดของ DAT ที่ให้อยู่ระหว่าง 10,000-20,000 หน่วย โดยพิจารณาตามความรุนแรงของโรค
หมายเหตุ *การให้ antitoxin ต้องทำ skin test
2) ให้ยาปฎิชีวนะ เพนนิซิลิน ฉีดเข้ากล้ามเป็นเวลา 14 วัน ถ้าแพ้เพนนิซิลิน ให้ erythromycin แทน ยาปฏิชีวนะจะไปทำลายเชื้อ C. diphtheriae
3) เด็กที่มีโรคแทรกซ้อนจากการอุดกลั้นของทางเดินหายใจ จะต้องได้รับการเจาะคอเพื่อช่วยให้หายใจได้ ส่วนโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและทางเส้นประสาท ให้การรักษาประคับประคองตามอาการโรคแทรกซ้อนทางหัวใจนับเป็นสาเหตุสำคัญของการตายในโรคคอตีบ
4) เด็กที่เป็นโรคคอตีบจะต้องพักเต็มที่ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นปลายสัปดาห์ที่ 2
ข้อแนะนำ
1. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก และน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ควรทำการกำจัดเสีย
2. เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือประสาทอักเสบแทรกซ้อน เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้วควรระวังอย่าให้ร่างกายตรากตรำ จนกว่าจะปลอดภัย
3. พาเด็กที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อรับยาปฏิชีวนะ เช่น อีริโทรไมซิน กินป้องกันนาน 7 วัน
4. เชื้อคอตีบอาจทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่ผิวหนังได้ ถ้าพบแผลเรื้อรังในคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยคอตีบ ก็อย่าลืมนึกถึง
การป้องกัน
1) ผู้ที่มีอาการของโรคจะมีเชื้ออยู่ในจมูก ลำคอ เป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น จึงต้องแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังเริ่มมีอาการ หรือตรวจเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแล้ว 2 ครั้ง ผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบแล้ว อาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นเต็มที่จึงอาจเป็นโรคคอตีบซ้ำอีกได้ ดังนั้นจึงต้องให้วัคซีนป้องกันโรค (DTP หรือ dT) แก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน
2) ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เนื่องจากโรคคอตีบติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้นผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจะติดเชื้อได้ง่าย จึงควรได้รับการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยทำการเพาะเชื้อจากลำคอ และติดตามดูอาการ 7 วัน ในผู้ที่สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน หรือได้ไม่ครบ ควรให้ยาปฏิชีวนะ benzathine penicillin 1.2 ล้านหน่วย ฉีดเข้ากล้าม หรือให้กินยา erythromycin 50 มก./กก/วัน เป็นเวลา 7 วัน พร้อมทั้งเริ่มให้วัคซีน เมื่อติดตามดูพบว่ามีอาการ และ/หรือตรวจพบเชื้อ ให้ยาปฏิชีวนะดังกล่าว พร้อมกับให้ diphtheria antitoxin เช่นเดียวกับผู้ป่วย
3) ในเด็กทั่วไป การป้องกันนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี